วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

บทความทางวิชาการ

บทความทางวิชาการ
เรื่อง  การประกันคุณภาพการศึกษา  :  จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ สู่อนาคตการศึกษาไทย
                                                                                      รจณีย์   ศรีทอง
ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเรื่องของคุณภาพการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญเพราะการศึกษาเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน   ดังนั้นทุกคนจึงต้องให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการผลักดันส่งเสริมให้ผลผลิตทางการศึกษามีคุณภาพ ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลกระทบกับเด็กเยาวชนและคนไทยในอนาคตเป็นอย่างมาก   ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพเพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยเป็นคนดี  มีคุณธรรม  เป็นคนเก่ง  คิดดี  ทำงานได้ดี   มีคุณภาพ  มีความเป็นไทย  สามารถปรับตัวได้เหมาะสมกับสถานการณ์โลกและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
ที่ผ่านมาเราอาจเคยได้ยิน หรือเห็นคำว่า “คุณภาพ” ปรากฏในนโยบาย แผนงาน โครงการต่างๆ และเป็นความต้องการของผู้รับบริการโดยทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติ นโยบายเหล่านั้นไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติที่ก่อให้เกิดผลเท่าที่ควรด้วย ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ ดังปรากฏในรายงานการวิจัยและการติดตามผลการจัดการศึกษาไทยตลอดมา รายงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2543 : 38) ในการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา ฉบับที่ 8  ได้กล่าวถึงปัญหานี้ว่าคุณภาพการศึกษากำลังเป็นจุดวิกฤตของระบบการศึกษาไทย การจัดการเรียนการสอนยังมุ่งเน้นการท่องจำเพื่อสอบมากกว่าการสอนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ การแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังไม่สามารถปลูกฝังให้ผู้เรียนรักที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของโลกยุคข้อมูลข่าวสารหรือสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งสอดคล้องกับ ประเวศ วะสี ในฐานะนักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญ ในการปฏิรูปการศึกษาของไทยคนหนึ่งในปัจจุบันได้กล่าวถึงปัญหาการศึกษาของไทยไว้ดังนี้ (ประเวศ  วะสี. 2537 : 37)
“การเรียนการสอนของไทยในสถาบันการศึกษาทุกระดับตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย เป็นการศึกษาที่สร้างความอ่อนแอทางสติปัญญา หรือสร้างคนที่พิการปัญญา และทำลายศักยภาพในการเรียนรู้สร้างคนที่ขาดความรู้ ไม่มีความรู้จริง คิดไม่จริง ทำอะไรไม่เป็น ขาดความรักในหัวใจ ไม่มีฉันทะ และขาดความสามารถในการสร้างความรู้ ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม...”
หลายคนคงจำได้ว่าในช่วงกลางปี 2540 สถาบันการศึกษายังตกเป็นจำเลยทางสังคมในกรณีวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในข้อหาไร้สมรรถภาพในการเตรียมคนของชาติให้มีความพร้อมในการแข่งขันกับนานาชาติได้ สถาบันการศึกษาในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากสังคมในการจัดการศึกษาให้แก่สมาชิกในสังคมคงต้องปฏิรูปตนเองเพื่อให้การจัดการศึกษาของไทยเป็นไปอย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น  ปัญหาการจัดการศึกษาของไทยเกิดจากหลายสาเหตุ และเกี่ยวกับบุคคลหลายฝ่าย อย่างไรก็ตามเราไม่ควรไปโทษใคร หรือค้นคว้าว่าใครผิดใครถูก แต่เราควรตระหนักว่าบัดนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเอาจริงเอาจังกับการปรับปรุงงคุณภาพการจัดการศึกษาของไทย
การสร้างคุณภาพจึงเป็นเรื่องที่นักบริหารจะต้องสร้างให้ได้   ด้วยการสร้างคนให้มีคุณภาพโดยการสร้างคนให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง  และสร้างคนให้มีสำนึกแห่งคุณภาพในหน้าที่  ที่ตนรับผิดชอบอยู่เพราะเมื่อคนมีคุณภาพ  องค์กรก็จะมีคุณภาพตามไปด้วย
คุณภาพอาจนิยามความหมายได้  คือ   คุณลักษณะและประโยชน์ของการใช้งานโดยรวมของผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้สามารถตอบสนองการใช้งานได้   ความเหมาะสมสำหรับการใช้งานสอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการ  ส่วนประกอบทั้งหมดของผลิตภัณฑ์หรือบริการ  ทั้งด้านการตลาด  วิศวกรรม  การผลิตและการซ่อมบำรุงที่ตรงกับความคาดหวังและความต้องการของลูกค้า  สอดคล้องกับมาตรฐานซึ่งเป็นที่ต้องการและความคาดหวังของลูกค้า
        สรุปได้ว่า  คุณภาพ  คือ  ลักษณะดีเด่นของผลงานที่ได้มาตรฐานซึ่งตอบสนองต่อความต้องการ  และความคาดหวังของลูกค้า  เป็นการตอบสนองความต้องการที่แท้จริงไม่ใช่ความอยากของลูกค้าซึ่งเป็นความต้องการที่ผิวเผิน        คุณภาพจึงไม่ใช่แค่ทำงานให้ไม่บกพร่อง ไม่มีปัญหาหรือไม่ผิดพลาดเท่านั้น แต่ต้องทำให้ลูกค้าเกิด ความรู้สึก  ยอมรับ อยากได้และชื่นชม  ด้วย  ลูกค้าจะต้องได้รับทั้งคุณภาพที่พึงต้องมีและคุณภาพที่ดึงดูดใจ   จึงจะเกิดความรู้สึกพึงพอใจได้
          การประกันคุณภาพจึงมีความสำคัญ   เพราะเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า   ความพึงพอใจของลูกค้าคือเหตุผลที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ  ผู้ผลิตจึงต้องผลิตสินค้าหรือบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า  เพื่อให้สินค้าหรือบริการเป็นที่ยอมรับและเลือกซื้อ
         การประกันคุณภาพสามารถส่งมอบได้ตามกำหนด  สินค้าหรือบริการที่ส่งมอบได้ทันตามกำหนดเวลาโดยมีคุณสมบัติครบถ้วน  จะนำมาซึ่งความพึงพอใจของลูกค้า  เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อบริการในครั้งต่อไป
         การประกันคุณภาพช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี  ถ้าผลิตสินค้ามีคุณภาพไม่มีของเสีย  ไม่มีปัญหาในการผลิต  การส่งมอบตรงเวลา  ฝ่ายบริหารก็พอใจ  พนักงานก็มีกำลังใจในการทำงานมีความสุขกับงาน  สินค้าขายดีมีกำไรผลประโยชน์ต่างๆ  และสวัสดิการก็ดีขึ้น  ทำให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องกับหน่วยงานมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
        การประกันคุณภาพ   คือ กิจกรรมอย่างเป็นระบบ   ที่ได้ปฏิบัติโดยผู้ผลิต  เพื่อรับรองว่าคุณภาพที่ลูกค้าเรียกร้องนั้นเป็นที่พอใจโดยสมบูรณ์ 
        การประกันคุณภาพ(Quality  Assurance)  เป็นระบบในการควบคุมตรวจสอบและตัดสินคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด  ในระบบการประกันคุณภาพจะมีการกำหนดเกณฑ์หรือเงื่อนไขแห่งคุณภาพ  มีการควบคุมให้เกิดการปฏิบัติตามเกณฑ์   มีการตรวจสอบมาตรฐานการปฏิบัติ  และมีการตัดสินว่างานหรือกิจกรรมบรรลุตามเกณฑ์หรือไม่
        ดังนั้น  การประกันคุณภาพ (Quality  Assurance)  จึงเป็นกระบวนการหรือการดำเนินงานอย่างเป็นระบบเพื่อผลิตสินค้า  หรือให้บริการที่มีความเป็นเลิศตามมาตรฐาน  หรือตรงตามความต้องการของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ   โดยมีระบบในการควบคุมตรวจสอบและตัดสินคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด  และในระบบการประกันคุณภาพจะมีการกำหนดเกณฑ์หรือเงื่อนไขแห่งคุณภาพ  มีการควบคุมให้เกิดการปฏิบัติตามเกณฑ์  มีการตรวจสอบมาตรฐานการปฏิบัติ  และมีการตัดสินว่างานหรือกิจกรรมบรรลุตามเกณฑ์หรือไม่
        พัฒนาการของการประกันคุณภาพเริ่มต้นในประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองโดยเน้นเฉพาะการประกันผลผลิตทางอุตสาหกรรม (Industrial  Products)  และเน้นการควบคุมทางสถิติ  การควบคุมคุณภาพสินค้าทำให้ระบบอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาได้รับความเชื่อถือว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสามารถส่งออกไปขายได้ทั่วโลก
        หลังสงครามโลกครั้งที่สองญี่ปุ่นแพ้สงครามสินค้าอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมีคุณภาพต่ำมากจึงมีความพยามยามที่จะพัฒนาเทคนิคการบริหารงานเพื่อให้เกิดคุณภาพสินค้าอุตสาหกรรมโดยอาศัยความรู้จากประเทศตะวันตกโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา   ในปี ค.ศ. 1950 ญี่ปุ่นได้เชิญ ศาสตราจารย์  ดร.เดมิ่ง  (Edwards  Deming)  มาเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเรื่องการประกันคุณภาพสินค้าของญี่ปุ่น  โดยเน้นให้ผลิตสินค้าที่ตรงความต้องการของลูกค้า  แล้วจะขายของได้ดีเอง  ด้วยต้นทุนที่ต่ำ
        ศาสตราจารย์  ดร.เดมิ่ง(Edwards  Deming)  ได้นำเรื่อง “วงจรคุณภาพ” (Quality  Control  Circles - QCC)  ซึ่งเน้นกระบวนการวางแผน    กระบวนการดำเนินงาน   กระบวนการประเมิน   และกระบวนการปรับแผน  (PDCA)  เข้าไปแนะนำและวางระบบให้กับอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจนประสบความสำเร็จ    สามารถพัฒนาจากการประกันคุณภาพที่เน้นเฉพาะสินค้า   ไปสู่การประกันคุณภาพทั้งระบบ     ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตจนเป็นสินค้า     ซึ่งเรียกว่า  “ กระบวนการบริหารคุณภาพทั้งระบบ ”  (Total   Quality  Management   - TQM)  
          ญี่ปุ่นเน้นการพัฒนาคน  ฝึกคนให้มีความรู้  มีความคิดที่เป็นระบบ (มีความคิดแบบ  Plan  Do  Check   Action)  ยอมรับความผิดพลาด  ไม่โทษซึ่งกันและกัน  แต่ทำงานร่วมกันเป็นทีม  ใช้สถิติมาช่วยในการตัดสินใจมากกว่าใช้ความรู้สึก  ยึดการบริหารแบบทุกคนมีส่วนร่วม  โดยยึดหลักการที่ว่าการบริหารคุณภาพต้องให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วม   ให้ผู้รับเหมาช่วง  ให้ลูกค้า  ผู้เกี่ยวข้อง(Stake  holder)  มีส่วนร่วมในการบริหารคุณภาพ  เพื่อให้ลูกค้าได้สิ่งที่เขาพึงพอใจ
ต่อมากลุ่มประเทศในยุโรป  ก็ได้เริ่มนำระบบการประกันคุณภาพมาใช้  เรียกว่า  International  Standard  Organization   หรือเรียกว่า  ISO 9000    เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้าเห็นความสำคัญของระบบบริหารงานคุณภาพ  ISO  9000  เพราะเป็นเสมือนหนังสือเดินทาง (Passport)  ที่จะทำให้ผลิตสามารถส่งสินค้าเข้ากลุ่มประเทศยุโรปได้
             การประกันคุณภาพเป็นมาตรการหนึ่งที่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพสินค้าอุตสาหกรรม และบริการจนเป็นผลสำเร็จ  การนำระบบประกันคุณภาพมาใช้ในวงการศึกษาได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการมากกว่าการมองปัญหาที่ตัวบุคคล  โดยมีแนวความคิดสำคัญในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพคือ กระบวนการบริหารคุณภาพทั้งระบบ หรือการบริหารคุณภาพแบบเบ็ดเสร็จ (TQM : Total   Quality Management)  โดยมีหลักการที่สำคัญ คือ  มุ่งเน้นที่คุณภาพ (Quality Oriented) ปรับปรุงกระบวนการ (Process   Improvement)    ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วม  (Total  Involvement) 

          นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับหลักการบริหารคุณภาพของเดมมิ่ง  14  ข้อ ซึ่งเป็นแนวทางใหม่เพื่อการพัฒนาคุณภาพให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอในองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อความอยู่รอดและสามารถแข่งขันในตลาดได้   วงจรเดมมิ่งทั้ง  14  ข้อนี้ต้องศึกษาหลักการบริหารคุณภาพทั้ง  14  ข้อให้เข้าใจ  เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างคุณภาพในองค์กร  สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม  จะทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ
          มีหลักการของ  Benchmarking   ที่เป็นกระบวนการหนึ่งในการดำเนินธุรกิจที่ทำให้เรารู้จักองค์กรของเราเอง  แล้ววิเคราะห์ว่าองค์กรของเราเป็นอย่างไร  อยู่ที่ใด  โดยการเปรียบเทียบกับองค์กรที่เหนือกว่า เมื่อได้ข้อแตกต่างจากการเปรียบเทียบผู้ร่วมงานในองค์กรจะทำการกำหนดวิธีในการปรับประบวนการต่าง ๆ  ทางธุรกิจเพื่อให้องค์กรอยู่ในระดับแนวหน้าเท่ากับ  หรือดีกว่าองค์กรที่เหนือกว่าเราในปัจจุบัน โดยมีหลักเบื้องต้น  คือ  รู้สถานการณ์ดำเนินงานตัวเองโดยการประเมินจุดแข็ง  จุดอ่อน  แล้วทำความรู้จักอุตสาหกรรมชั้นนำต่างๆ  นำความสามารถของบริษัทชั้นนำนั้นมาเปรียบเทียบกับความสามารถของบริษัทของตัวเอง เพื่อหาความสามารถที่แตกต่าง    แล้วจึงนำวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานโดยผสมผสานสิ่งที่ดีเข้าด้วยกัน
การประกันคุณภาพ (Quality Assurance) หมายถึง กิจกรรมการบริหารคุณภาพในส่วนที่มุ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะบรรลุข้อกำหนดทางด้านคุณภาพ  ตามนัยจากคำนิยามดังกล่าวข้างต้นนี้ การดำเนินการส่วนใดที่เป็นไปในลักษณะมุ่งกระทำให้เกิดผลที่บนชิ้นงานผลิตภัณฑ์ หรือบริการอย่างเจาะจง แล้วตรวจสอบทดสอบผลการดำเนินการ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่จะทำให้ชิ้นงานผลิตภัณฑ์หรือบริการมีคุณลักษณะตามที่กำหนดไว้ เราเรียกการดำเนินการทั้งหมดนั้นว่า การควบคุมคุณภาพ การดำเนินการส่วนใดที่เป็นไปในลักษณะเพื่อจะสร้างความเชื่อมั่น ให้แก่กระบวนการผลิต หรือกระบวนการให้บริการ โดยมิได้มุ่งกระทำเพียงแค่ที่ตัวชิ้นงานผลิตภัณฑ์ หรือการบริการเท่านั้นหากแต่มุ่งที่จะสร้างความมั่นใจ ตั้งแต่ก่อนจะลงมือดำเนินการผลิต หรือให้บริการ ว่าผลของการผลิต หรือให้บริการนั้นๆ จะบรรลุข้อกำหนดทางด้านคุณภาพ ได้อย่างแน่นอน เราเรียกการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ว่า "การประกันคุณภาพ"
ในวันที่  14  ตุลาคม  2540 ได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540  และต่อมาในวันที่  14  สิงหาคม 2542  ประเทศไทยก็มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พุทธศักราช 2542  ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย  ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนไฟส่องนำทางสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา ในกฎหมายได้กำหนดระบบประกันคุณภาพไว้ในมาตรา 6   มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา   โดยมีสาระสำคัญของพระราชบัญญัติตามมาตราต่าง ๆ ดังนี้
        มาตรา ๔๗ ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา
ทุกระดับ   ประกอบด้วย   ระบบการประกันคุณภาพภายใน  และระบบการประกันคุณภาพภายนอก
ระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
        มาตรา ๔๘ ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายใน
สถานศึกษาและให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำรายงานประจำปี  เสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   และเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพ   และมาตรฐานการศึกษาและเพื่อรับรองการประกันคุณภาพภายนก
        มาตรา ๔๙ ให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา มีฐานะเป็น
องค์การมหาชนทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์ วิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการ
จัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษาโดยคำนึงถึงความมุ่งหมายและหลักการ และแนวการจัดการศึกษาในแต่ละระดับตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้    ให้มีการประเมินผลคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปีนับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้ายและเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน
        มาตรา ๕๐ ให้สถานศึกษาให้ความร่วมมือในการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่มีข้อมูล
เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา ตลอดจนให้บุคลากร คณะกรรมการของสถานศึกษา    รวมทั้งผู้ปกครองและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่พิจารณาเห็นว่า เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภารกิจของสถานศึกษา ตามคำร้องขอของสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษาหรือบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกที่สำนักงานดังกล่าวรับรอง ที่ทำการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษานั้น
        มาตรา ๕๑ ในกรณีที่ผลการประเมินภายนอกของสถานศึกษาใดไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
ให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา จัดทำข้อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไข
ต่อหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้สถานศึกษานั้นปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หากมิได้ดำเนินการดังกล่าวให้สำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา รายงานต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อดำเนินการให้มีการปรับปรุงแก้ไข
          จะเห็นได้ว่า การประกันคุณภาพการศึกษามีความสัมพันธ์ และสอดคล้องกับเป้าหมายการศึกษาที่พัฒนามาโดยลำดับ  นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  2540  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542   พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) พ.ศ.2543  มาตรฐานการศึกษาเพื่อการประเมินภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน   
           การประกันคุณภาพภายใน เป็นกระบวนการบริหารจัดการที่มีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณภาพ  ซึ่งเป็นภารกิจที่สถานศึกษาจะต้องทำ  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  มีสาระบัญญัติที่กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งมีการประกันคุณภาพภายใน  และให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหาร  ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  เพื่อพัฒนาคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน สถานศึกษาจะดำเนินการประเมินตนเอง  พัฒนาปรับปรุงตนเอง  และเก็บรายงานการประเมินตนเองไว้เป็นหลักฐาน  เมื่อผู้ประเมินจากภายนอกเข้าไปตรวจเยี่ยมก็จะดูจากรายงานนั้น  โดยสถานศึกษาไม่ต้องสร้างรายงานขึ้นมาใหม่อีก   ส่วนการประกันคุณภาพภายนอก เป็นการประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาหรือบุคคล  หรือหน่วยงานภายนอกที่สำนักงานดังกล่าวรับรอง เพื่อเป็นการประกันคุณภาพและให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
          แนวคิดด้านการบริหารคุณภาพแบบเบ็ดเสร็จ (Total  Quality  Management  - TQM)  การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการทำ Benchmarking หลักการบริหารคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming  Cycle) ปรากฏในการประกันคุณภาพการศึกษาในส่วนของกระบวนการประกันคุณภาพภายใน ซึ่งจะประกอบด้วย  การควบคุมคุณภาพ การพัฒนาคุณภาพ  การติดตามตรวจสอบ  การประเมินคุณภาพ เนื่องจากเป็นการบริหารคุณภาพที่ให้บุคลากรในทุกสายงานทุกระดับมีส่วนร่วมในการบริหารคุณภาพ  โดยมีปรัชญา  3  ประการ  คือ  ความมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กร   โดยในระดับพนักงานจะต้องมีการควบคุมคุณภาพด้วยตนเอง  ความมีระบบซึ่งหมายถึง การบริหารภายใต้แนวคิดที่สามารถสอบกลับได้  โดยอาศัยแนวคิดของเกลียวคุณภาพและการตัดสินใจด้วยข้อเท็จจริง  ภายใต้ปรัชญาทั้ง  3  ประการ  ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรจะต้องทำการกำหนดรูปแบบการบริหารภายใต้หลักการที่สำคัญ  4  ประการ  คือ  การบริหารที่มุ่งเน้นลูกค้า  ความเป็นเลิศด้านทรัพยากรมนุษย์  ความเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์  และความเป็นเลิศทางการบริหาร  หลักการทั้ง 4 จะมีผลต่อประสิทธิภาพของการบริหารคุณภาพ
          สภาพการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษานั้น สถานศึกษาจะต้องดำเนินการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาโดย  กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาเพื่อเป็นเกณฑ์หรือสภาพที่ต้องการให้เกิด  ทั้งสภาพปัจจัย  วิธีดำเนินงานโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาชาติ เขตพื้นที่การศึกษา  โดยมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของสถานศึกษา  สภาพชุมชนและศักยภาพของสถานศึกษา    
จัดระบบบริหารและสารสนเทศโดยจัดโครงสร้างการบริหารที่นำระบบ และกลไกประกันคุณภาพภายในไว้ในโครงสร้างการบริหาร และกำหนดบุคคลผู้รับผิดชอบงานประกันคุณภาพภายใน ดำเนินการประกันคุณภาพตั้งแต่การวางแผน  ดำเนินการตามแผน  ติดตามตรวจสอบคุณภาพ  และจัดทำรายงานประจำปีของสถานศึกษา วางแผนการเก็บข้อมูลตั้งแต่ต้นปีการศึกษาและหมั่นตรวจสอบให้เป็นปัจจุบัน สามารถสรุปข้อมูลรายงานผู้รับผิดชอบในการดูแลกำกับข้อมูลเป็นรายเดือน   รายภาคเรียน  เมื่อทำรายงานประจำปีทำให้ได้ข้อมูลไปใช้ได้ง่ายและรวดเร็ว  สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารการเรียนการสอน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา    สามารถรองรับการประเมินจากหน่วยงานต่างๆ  ทั้งจากภายในและภายนอกหน่วยงาน 
ทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่มุ่งเน้นคุณภาพการศึกษา โดยคำนึงถึงหลักการกระจายอำนาจ  การมีส่วนร่วม  ภาระความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริง โดยการนำผลการประเมินคุณภาพภายใน  และผลการประเมินคุณภาพภายนอกรวมทั้งวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน  ปัญหาและความจำเป็นมาเป็นเป้าหมายในการพัฒนา เพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์  จัดทำเป็นกลยุทธ์นำไปสู่โครงการ กิจกรรม  และตัวบ่งชี้  
การดำเนินงานตามแผนพัฒนาการศึกษา เป็นการบริหารแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา  ผู้บริหารจะเป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด ติดตามตรวจสอบ  และปรับปรุงการดำเนินงานตามแผนอย่างจริงจัง ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนเสร็จสิ้นตามแผนงาน โครงการ  กิจกรรม  
 การตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษาสถานศึกษา  แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและทบทวนคุณภาพภายในสถานศึกษาทุกปี  ตามแผนงาน  โครงการ  กิจกรรม หรือตามมาตรฐานด้านปัจจัย  มาตรฐานกระบวนการ  และมาตรฐานด้านผลผลิตเพื่อตรวจสอบว่าผลการดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นอย่างไร  หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้เป็นอย่างไร   
การประเมินคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด  สถานศึกษากำหนดให้มีการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานที่กำหนด  เป็นการประเมินตนเอง โดยแต่งตั้งบุคคลจากภายในมาประเมินตามมาตรฐานที่กำหนด ผลจากการประเมินจะนำไปจัดทำรายงานประจำปี เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน
 การรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี   สถานศึกษาจัดทำรายงานประจำปี   ตามมาตรา 48พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545   เพื่อเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดและสาธารณชน  และรองรับการประกันคุณภาพภายนอก  ที่ระบุความสำเร็จตามเป้าหมายในแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา  พร้อมหลักฐานข้อมูลและผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ในทุกระดับ  ทุกช่วงชั้นตามกลุ่มสาระการเรียนรู้
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  สถานศึกษานำหลักวงจรคุณภาพมาเป็นกรอบในการพัฒนา  โดยการพิจารณาผลการรายงานประจำปี  ถ้าเป็นโครงการที่ดีก็ดำเนินการต่อไป ถ้าหากมีข้อบกพร่องก็ให้ปรับปรุงแก้ไข  หากพิจารณาแล้วไม่เกิดประโยชน์หรือไม่คุ้มค่าอาจไม่ดำเนินโครงการนั้นต่อไป  การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องต้องสร้างให้เกิดวัฒนธรรมคุณภาพในองค์กร  และเป็นองค์กรแห่งความรู้  บุคคลในองค์กรจะต้องมีความศรัทธาและเกิดความตระหนักเห็นคุณค่าของการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง  โดยจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เรียกว่า การจัดการความรู้ (Knowledge  Management) ภายในองค์กร และการสร้างเครือข่ายกับสถานศึกษาอื่น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  และมาตรฐานการศึกษา
การประเมินภายนอกเพื่อการรับรองมาตรฐานการจัดการศึกษานั้น สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้กำหนดขั้นตอนการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ก่อนการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ผู้ประเมินภายนอกรวบรวมข้อมูลที่สถานศึกษาจัดส่งมาให้สำนักงานรับรองมาตรฐาน ล่วงหน้า  ทำการศึกษาวิเคราะห์รายงานและเอกสารรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษากำหนดประเด็นและรายการข้อมูลที่จะตรวจสอบ และวางแผนว่าจะต้องรวบรวมข้อมูลอะไรเพิ่มเติม  จากแหล่งใด  ด้วยวิธีอะไร 
ขั้นตอนที่  2  ระหว่างการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา  คณะผู้ประเมินภายนอกเข้าไปตรวจเยี่ยมในลักษณะกัลยาณมิตร  ทำการประเมินคุณภาพสถานศึกษาทั้งด้านการจัดการเรียนการสอนและการบริหาร  ตามที่กำหนดในมาตรฐานการศึกษาชาติ  เพื่อยืนยันว่าผลการประเมินตนเองของสถานศึกษานั้นมีความถูกต้องหรือไม่ มีเหตุผลและหลักฐานสนับสนุนเพียงพอหรือไม่  โดยผู้ประเมินจะประชุมร่วมกับบุคลากรของโรงเรียน  สังเกตการเรียนการสอน  สัมภาษณ์พูดคุยผู้เกี่ยวข้อง  เช่น  ผู้บริหาร  ครู  นักเรียน  ผู้ปกครอง  ผู้แทนชุมชน  กรรมการสถานศึกษา  และบันทึกข้อมูลตามที่ปรากฏ  เมื่อได้ข้อมูลครบ   คณะผู้ประเมินจะนำข้อมูลหรือข้อค้นพบที่ได้มาอภิปรายร่วมกัน  เพื่อวิเคราะห์สรุปผลตามมาตรฐานและให้ข้อเสนอแนะ  แล้วนำเสนอผลแก่บุคลากรของสถานศึกษาด้วยวาจาเพื่อรับฟังความคิดเห็น และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล  และให้โอกาสสถานศึกษาชี้แจงในกรณีที่เห็นว่าข้อค้นพบไม่ถูกต้อง  ทั้งนี้ข้อค้นพบที่รายงานจะต้องเป็นผลจากการประชุมร่วมกันของผู้ประเมินทั้งคณะ
ขั้นตอนที่  3  หลังการตรวจเยี่ยมสถานศึกษา  คณะผู้ประเมินร่วมกันจัดทำร่างรายงานผลการประเมินสถานศึกษา  โดยนำข้อมูลทั้งหมดมาเขียนให้ตรงตามหลักฐานข้อมูลต่างๆ  ที่รวบรวมได้  และตรงตามที่ได้รายงานให้สถานศึกษาทราบด้วยวาจา  แล้วส่งรายงาน ฯ ให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับแต่งตั้งจาก สมศ. พิจารณาความถูกต้องชัดเจน  ครบถ้วน  และความเชื่อถือได้  เพื่อปรับปรุงแก้ไขตามความจำเป็นจากนั้นจึงจัดส่งรายงานให้สถานศึกษาตรวจสอบและโต้แย้งภายใน  15  วัน หลังจากพิจารณาข้อโต้แย้ง  อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยืนยันตามรายงาน  จากนั้นนำเสนอ สมศ. เพื่อให้การรับรองและเผยแพร่ต่อไป

วิธีคิดใหม่ของการประกันคุณภาพการศึกษา
สมศ. เป็นผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาโดยผ่านบริษัทประเมินต่างๆ มิได้ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการแต่ขึ้นกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง บริหารโดยคณะกรรมการซึ่งได้มีการเลือกสรรอย่างอิสระ การดำเนินงานต้องเป็นอิสระจากระบบราชการ ไม่มีใครกำหนดได้ว่าโรงเรียนนั้นมีชื่อเสียงเท่าใด ได้รับการประกันหรือไม่ได้รับการประกัน เป็นการตัดสินใจที่เป็นอิสระของผู้ประเมินเอง แม้กระทั่งผู้อำนวยการของสถาบันก็ได้มาจากการเลือกสรรของคณะกรรมการ มีอายุการทำงาน 4 ปี ระบบได้วางไว้ให้องค์กรนี้เป็นองค์กรอิสระอย่างชัดเจน ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับระบบการศึกษาโดยตรง
ฉะนั้น  การประเมินถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งใหม่ทุกสิ่งเกิดขึ้นมักจะมีข้อขัดข้องเราต้องเรียนรู้ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเราริเริ่มการประกันการศึกษา ทั้งระบบโดยใช้กฎหมาย ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกอาจมิดำเนินการแบบประเทศไทย โดยดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากประกันคุณภาพแบบสมัครใจก่อน ค่อยมาเป็นกฎหมาย แต่บ้านเราเริ่มต้นการเป็นกฎหมาย ทุกคนยังไม่มีประสบการณ์ว่าการประกันคุณภาพคืออะไร สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเกือบจะครบวงรอบ 5 ปี มีปัญหามากมาย สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เมื่อมีมาตรฐานออกมาคือ 27 มาตรฐาน ซึ่งใน 5 ปีแรกเราใช้ 14 มาตรฐาน โรงเรียนได้รับการบอกเล่าว่าต้องได้รับการประเมินมาตรฐานของตนเอง หากโรงเรียนต้องประเมินมาตรฐานของตนเอง โรงเรียนจะมอบให้แต่ละกลุ่ม แต่ละคนรับไปดำเนินการ บางโรงเรียนให้บุคลากรรับไปทีละ 1 มาตรฐาน บางโรงเรียนอาจให้บุคลากรรับไปตามตัวบ่งชี้ ต้องทำการประเมิน โรงเรียนจะท่วมไปด้วยการประเมิน ทำการประเมินใหม่และจัดทำรายงาน และขอให้ผู้ประเมินจากภายนอกมายืนยัน ในรอบแรก สมศ.ใช้ชื่อว่า การประเมินสภาพจริง เป็นการประเมินพิเศษ เพราะการประเมินทั่วโลก นั้นหมายถึง ประเมินเพื่อรับรองว่ามีคุณภาพตามมาตรฐานทุกมาตรฐานเป็นลักษณะที่เรียกว่า All all non คือได้รับหรือไม่ได้รับรองซึ่งเรื่องนี้น่าจะเกิดในวงจรหน้าหลังจากปี 2548 ในวงจร 5 ปีแรกจะเป็นในลักษณะการนำร่องพิเศษก่อน คือการประเมินตามสภาพจริง โรงเรียนอาจจะไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานก็ไม่เป็นไร ให้ประเมินตนเองออกมาให้ได้ บรรยากาศเช่นนี้มีข้อดีหลายอย่างที่ทำให้โรงเรียนเริ่มรู้จักการประเมินทำให้โรงเรียนเริ่มสำรวจว่าตนเองอยู่ในสภาพเช่นไร














แผนภูมิที่ 1 เปรียบเทียบการประกันคุณภาพการศึกษาที่เป็นอยู่และที่ควรจะเป็น

แต่มีข้อเสียเกิดขึ้นเช่นกัน ข้อเสียที่สถาบันวิจัยค้นพบมี 3 ประการที่สำคัญ คือ แนวโน้มจะเกิดการประเมินคุณภาพเป็นจุดหลัก และจะประเมินคุณภาพแบบแยกส่วนคือ แยกไปตามรายมาตรฐาน ทั้งที่หลายมาตรฐานอาจต้องทำงานร่วมกันในงานเดียวกันหรือกิจกรรมเดียวกัน แต่เนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่ประเมินตามมาตรฐาน สิ่งที่ต้องได้รับคำชี้แจงคือ ประเมินรายมาตรฐาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏโดยทั่วไป คือมีการประเมินเป็นหลักและแยกส่วน เอามาตรฐานและตัวบ่งชี้แยกเป็นตัว ๆ ไป ได้ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพในลักษณะขาดความต่อเนื่องว่าโรงเรียนจะทำการปรับปรุงตัวเองให้มากที่สุด ขณะรอการประเมิน เพราะฉะนั้นผลสุดท้ายการประกันคุณภาพมิได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการที่ทำให้โรงเรียนจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนสมกับที่ได้กล่าวไว้ในความเป็นมาสิ่งที่ควรจะเป็นคือ การเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ไม่ต้องแยกส่วน ไม่เอาตามรายมาตรฐาน และ ตัวบ่งชี้ ท่านคงนึกว่า ถ้าไม่เอาตามนั้นแล้วจะใช้วิธีอย่างไร สิ่งที่ทำมีอยู่ 3 ประการ หนึ่ง เอาระบบเป็นตัวตั้ง โดยมาตรฐานและตัวบ่งชี้จะต้องจัดเป็นกลุ่มตามระบบสำคัญ ๆ เอาระบบเป็นตัวตั้งในการประกันคุณภาพภายในและเอาระบบเป็นตัวตั้งการประเมินคุณภาพภายนอก สอง การที่โรงเรียนจะพัฒนาโดยเอาระบบเป็นตัวตั้งจะต้องอาศัยระยะเวลาและโรงเรียนต้องอาศัยการชี้นำขององค์กร มีผู้นำ มียุทธศาสตร์ที่ดี ถ้าขาดยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนที่ดีและเอามาใช้งานได้จริงย่อมที่จะประสบความสำเร็จได้ยาก สาม การประกันคุณภาพเกิดจากความมุ่งมั่นของครู อาจารย์ทุกคนก่อนที่จะพูดถึงการมีส่วนร่วมที่กว้างกว่า เช่น การมีส่วนร่วมของนักเรียน การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง การมีส่วนร่วมของชุมชน อันดับหนึ่งการมีส่วนร่วมของครูในโรงเรียนเอง

คุณภาพการศึกษากับความคิดเชิงระบบ
ถ้าอยู่สายบริหารการศึกษาคงได้ยินคำว่า " ระบบ " บ่อยๆ ในความหมายว่า คือ Input Process
Output แต่ระบบยังความหมายอีก 3 ประการ
1. หนึ่งองค์กรหลายระบบ  องค์กรประกอบด้านหลายระบบที่ปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อเป้าหมายขององค์กร
2. ระบบที่ดี ระบบคุณภาพ  แต่ละระบบจะมีกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยชุดกิจกรรมบุคลิกภาพ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องสัมพันธ์กัน ระบบคุณภาพช่วยวางระบบให้ดำเนินการอย่างมีคุณภาพสม่ำเสมอ
3. ข้อมูลย้อนกลับของระบบ  นำไปสู่การปรับปรุงบนข้อเท็จจริง ระบบที่ดีจะมีข้อมูลและสารสนเทศซึ่งให้ข้อมูลป้อนกลับที่นำไปสู่การปรับปรุงระบบความคิดเชิงระบบประการที่ 1 สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรประกอบด้วยระบบที่สัมพันธ์กันอย่างในงานวิจัยพบว่า โรงเรียนประกอบด้วยระบบที่สัมพันธ์กัน 10 ระบบ ซึ่งโรงเรียนเล็ก โรงเรียนใหญ่อาจจะมีการจัดระบบแตกต่างกันในรายละเอียด แต่จะมีภาพรวมคล้ายกันดังในแผนภูมิที่ 2











           
 แผนภูมิที่ 2 : หนึ่งโรงเรียนหลายระบบ

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การบริหารเป็นศาสตร์และศิลป์อย่างไร?

การบริหารการศึกษาเป็นศาสตร์หรือศิลป์
รวบรวมโดย  นางรจณีย์  ศรีทอง

ความหมายของการบริหารการศึกษา ( Educational Administration )
                 การบริหารการศึกษา ซึ่งประกอบด้วยคำสำคัญ 2 คำ  คือคำว่า การบริหาร  ( Administration ) และ การศึกษา ( Education )  ดังนั้นจะขอแยกความหมายของคำทั้งสองนี้ก่อน
ความหมายของคำว่า การบริหาร มีผู้ให้ความหมายไว้หลากหลาย ทั้งคล้ายๆกัน  และแตกต่างกัน ขอยกตัวอย่างสัก 6 ความหมาย ดังนี้
การบริหาร คือ ศิลปะของการทำงานให้สำเร็จโดยใช้บุคคลอื่น
การบริหาร คือ การทำงานของคณะบุคคล ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่ร่วมกันปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน
การบริหาร คือ  การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันทำงาน เพื่อจุดประสงค์อย่างเดียวกัน
การบริหาร คือ  กิจกรรมที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันดำเนินการ ให้บรรลุจุดประสงค์ร่วมกัน
การบริหาร คือ การใช้ศาสตร์และศิลปะนำทรัพยากรการบริหาร (Administrative resource) มาประกอบการตามกระบวนการบริหาร ( Process of administration ) ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
การบริหาร คือศิลปะในการทำให้สิ่งต่างๆได้รับการกระทำจนเป็นผลสำเร็จ หมายความว่าผู้บริหารไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ แต่ใช้ศิลปะทำให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานจนเป็นผลสำเร็จตรงตามจุดหมายขององค์การ หรือตรงตามจุดหมายที่ผู้บริหารตัดสินใจเลือกแล้ว
จากความหมายของการบริหารทั้ง 6 ความหมายนี้  พอสรุปได้ว่า  การบริหารเป็นการดำเนินงานของกลุ่มบุคคลเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ที่วางไว้
ส่วนความหมายของ การศึกษา ก็มีผู้ให้ความหมายไว้คล้ายๆกัน     ดังนี้
การศึกษา คือ การงอกงาม หรือ การจัดประสบการณ์ให้เหมาะสมแก่ผู้เรียน เพื่อผู้เรียนจะได้งอกงามขึ้นตามจุดประสงค์
การศึกษา คือ ความเจริญงอกงาม ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
การศึกษา คือ การสร้างเสริมประสบการณ์ให้ชีวิต
การศึกษา คือ เครื่องมือที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามทุกทางในตัวบุคคล
จากความหมายของ “การศึกษา” ข้างบนนี้พอสรุปได้ว่า  การศึกษา เป็นการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ทั้งความรู้ ความคิด  ความสามารถ และความเป็นคนดี
เมื่อนำความหมายของ การบริหาร มารวมกับความหมายของ การศึกษา ก็จะได้ ความหมายของ การบริหารการศึกษา ว่า การดำเนินงานของกลุ่มบุคคล เพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ทั้งความรู้ ความคิด   ความสามารถ และความเป็นคนดี นั่นเอง 
ซึ่งมีส่วนคล้ายกับความหมายของ  การบริหารการศึกษา ที่มีผู้ให้ไว้ ดังนี้
การบริหารการศึกษา คือ กิจกรรมต่างๆที่บุคคลหลายคนร่วมมือกันดำเนินการ เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชน ประชาชน หรือสมาชิกของสังคมในทุกๆด้าน เช่น ความสามารถ ทัศนคติ พฤติกรรม ค่านิยม หรือคุณธรรม ทั้งในด้านการสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิกที่ดีและมีประสิทธิภาพของสังคม โดยกระบวนการต่างๆ ทั้งที่เป็นระเบียบแบบแผน และไม่เป็นระเบียบแบบแผน
การบริหารการศึกษา คือ กิจกรรมต่างๆที่บุคคลหลายคนร่วมมือกันดำเนินการ เพื่อพัฒนาสมาชิกของสังคมในทุกๆด้าน นับตั้งแต่บุคลิกภาพ ความรู้ ความสามารถ พฤติกรรมและคุณธรรม เพื่อให้มีค่านิยมตรงกันกับความต้องการของสังคม  โดยกระบวนการต่างๆที่อาศัยการควบคุมสิ่งแวดล้อมให้มีต่อบุคคล เพื่อให้บุคคลพัฒนาตรงตามเป้าหมายของสังคมที่ตนดำรงชีวิตอยู่
 การจะพัฒนาคนให้มีคุณภาพได้นั้น จะต้องมีการดำเนินการในด้านการเรียนการสอน การจัดกิจกรรม การวัดผล การจัดอาคารสถานที่และพัสดุครุภัณฑ์ การสรรหาบุคคลมาดำเนินการหรือมาทำการสอนในสถาบันการศึกษา การปกครองนักเรียนเพื่อให้นักเรียนเป็นคนดีมีวินัย  และอื่นๆ  ซึ่งการดำเนินงานเหล่านี้รวมเรียกว่า ภารกิจทางการบริหารการศึกษาหรือ งานบริหารการศึกษานั่นเอง